วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา


ชาวจีน เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญทางการค้าตลอดสมัยของอยุธยา ทั้งการค้าภายในอาณาจักร และการค้าทางเรือสำเภาระหว่างอยุธยากับจีนและชาติต่างๆ
หลักฐานการส่งคณะทูตไปเมืองจีนของแคว้นในที่ราบภาคกลางช่วงประมาณ 70 ปีก่อนกำเนิดอยุธยานั้น นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในเชิงการทูตและการค้ากับจีนแล้ว ยังหมายถึงว่าเรือสำเภาจากจีนก็คงเดินทางมาค้าขายยังดินแดนแถบนี้ด้วย ซึ่งก่อให้เกิดการตั้งชุมชนชาวจีนขึ้น...

ชาวจีนที่เข้ามาในสมัยอยุธยา โดยส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยน ซึ่งจีนกลุ่มนี้จะอยู่ในพระนครและหัวเมืองภาคใต้เป็นสำคัญ เป็นจีนที่มีบทบาทในราชสำนักและการค้า ส่วนชาวจีนแต้จิ๋ว มีจำนวนน้อยกว่า มีอยู่ทั้งในพระนครและหัวเมืองด้านตะวันออกโดยเฉพาะที่จันทบุรี ชาวจีนแต้จิ๋วจะมีจำนวนมากขึ้นและมีบทบาทมากขึ้นในราชสำนักและการค้าในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีจีนแคะ และจีนไหหลำด้วย ความแตกต่างของจีนเหล่านี้คือมาจากต่างมณฑลกัน และมีสำเนียงภาษาแตกต่างกันออกไป
ในช่วงที่ฝรั่งเริ่มเข้ามาค้าขายในดินแดนอยุธยา ฝรั่งก็พบว่า เมืองทุกเมืองที่ตนไปก็มีชาวจีนทำการค้าอยู่แล้วจำนวนมาก เช่น เมืองปากน้ำโพ (นครสวรรค์) บางปลาสร้อย (ชลบุรี) แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) ท่าจีน (สมุทรสาคร) บ้านดอน (สุราษฎร์ธานี) นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต เป็นต้น
              ชาวจีนเป็นกลุ่มคนพิเศษในสังคมอยุธยาที่ไม่ต้องสังกัดระบบไพร่ ซึ่งระบบการปกครองของอยุธยาต้องการให้ชาวจีนเป็นเสมือนตัวกลางทางการค้าภายในดินแดน ดังนั้นพ่อค้าชาวจีนจึงได้รับสิทธิพิเศษและการคุ้มครองอย่างมากยิ่ง หลวงโชฎึกราชเศรษฐี ศักดินา 1,400 เป็นผู้ควบคุมดูแลชุมชนชาวจีน เป็นเจ้ากรมท่าซ้าย
              ความมั่นคั่งของราชสำนักอยุธยามาจากการค้าในระบบบรรณาการ หรือการค้าที่ไปพร้อมกับการทูตที่จิ้มก้องจักรพรรดิจีนเป็นสำคัญ ราชสำนักอยุธยาใช้ประโยชน์จากความสามารถในการแล่นเรือสำเภาของชาวจีน โดยเรือสำเภาหลวงนั้น ผู้ที่ประจำตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งลูกเรือนั้น ล้วนเป็นชาวจีน และมีศักดินาเป็นขุนนางระดับล่าง
ในช่วงสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 นั้น ค่ายชาวจีนเป็นกองกำลังขนาดใหญ่และเข้มแข็งมาก มีกำลังประมาณ 3,000 คน มีทั้งจีนบ้านนายก่ายและจีนคลองสวนพลู เป็นกองกำลังดูแลพื้นที่ด้านตอนใต้นอกเกาะพระนครเป็นกองกำลังที่ช่วยคุ้มครองชุมชนคริสต์ต่างๆ ทั้งบ้านฝรั่งเศส บ้านโปรตุเกส โดยใช้บ้านฮอลันดาและวัดพนัญเชิงเป็นที่ตั้งค่ายของชาวจีน ส่วนพระเจ้าตากคุมกองกำลังที่ค่ายวัดพิชัย
             เชื่อกันว่ามีประชากรจีนในสยามตอนปลายอยุธยา จำนวนประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น